เคยมีใครสงสัยกันบ้างไหมเอ่ย เวลาไปร้านอาหารดังๆ หรือร้านอาหารยอดนิยม บางที่เรามักจะเห็นตราสัญลักษณ์ห่วงยางตัวสีขาว MICHELIN GUIDE แปะฝาผนังอยู่บ่อยๆ ทำให้แอบสงสัยจังเลยว่าเค้าเป็นใคร! มาจากไหน! แล้วใครเป็นคนมาชิม! แล้วจุดเริ่มต้นของรางวัลมิชลินมาจากไหนกันแน่ วันนี้เราพาทุกคนมาไขข้อให้หายสงสัยกันดีกว่า บอกเลยว่าจับทุกประเด็นมาครบ จบในโพสต์เดียว อยากรู้ต้องตามมากิน เอ้ย ตามมาอ่านพร้อมๆ กันเลยดีกว่า!
รายการเนื้อหา
MICHELIN GUIDE จุดเริ่มต้น กับเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา
ถ้าหากพูดถึงเรื่องราวต้นกำเนิดของ มิชลินไกด์ แล้วล่ะก็ ต้องขอบอกก่อนว่า Michelin Guide และ Michelin Star มาจากผู้ก่อตั้งยางรถยนต์มิชลินนะ เมื่อย้อนเวลาไปในปี 1900 หรือราวๆ 120 กว่าปีได้ บริษัทยางรถยนต์ได้เกิดไอเดียใหม่ขึ้น ผลิตไกด์บุ๊กปกแดง (แจกฟรี) ขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางแผนที่ และปั๊มน้ำมันบนถนน โดยจะสอดแทรกเรื่องการดูแลยางระหว่างทาง และกระตุ้นยอดขายยางรถยนต์ไปด้วย
การประสบความสำเร็จของ Guidebook
ต่อมาก็ได้ขยับขยายข้อมูล เพิ่มแหล่งที่พัก ที่กิน ที่เที่ยวในแต่ละประเทศลงไป ซึ่งกลายเป็นว่า มิชลินไกด์บุ๊กเล่นนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยางรถยนต์ของมิชลินยอดขายเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นจึงยกเลิกแจกฟรี เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารเข้าไป ขยับขยายการตีพิมพ์ออกไปหลายประเทศ วางจำหน่ายใหม่ซะเลย! อยู่ในราคาราวๆ 7 FRF ( 230 บาท)
หลังจากที่ไกด์มิชลิน ประสบความสำเร็จในการแนะนำร้านอาหาร และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่มาก ก็ได้เริ่มมีการส่งคนเข้าไปตระเวนชิม ร้านอาหารต่างๆ เพื่อทำการจัดเรตติ้งให้คะแนน เป็นดาวมิชลิน ในปี 1931 โดยเริ่มจากให้ 0-3 ดาว ซึ่งเป็นการถือกำเนิดรางวัล มิชลินสตาร์ จนถึงทุกวันนี้
มิชลินไกด์ กับนักชิมลึกลับ ที่ไม่ประสงค์ออกนาม
นี่มันนักชิม หรือ นักสืบกันแน่! สิ่งที่ชวนสงสัยกันจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่คู่รางวัลอันทรงเกียรติมากี่ปี ก็ไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าคณะกรรมการ ที่ตัดสินชะตากรรมร้านอาหารเลยซักครั้ง จริงๆ แล้ว บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้ตรวจสอบมิชลิน จะต้องปิดบังฐานะของตัวเองอย่างมิดชิด ห้ามบอกใคร ห้ามพูดคุยกับนักข่าว หรือแม้กระทั่งครอบครัว มีการเทรนด์ก่อนออกตระเวนชิมมาอย่างดี ต้องทำตัวปกติเหมือนลูกค้าทั่วไป ห้ามลำเอียง หรือติดสินบน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Michelin Guide นั่นเอง
ทำยังไงถึงจะได้เป็น MICHELIN STAR ?
หากวัดกึ๋นในเรื่องของความอร่อย คงจะเป็นปัญหาอย่างแน่ เพราะเรื่องรสชาติไม่สามารถสร้างเป็นกฎได้ ดังนั้นจะต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ โดยจะพิจารณาจาก 5 เกณฑ์หลัก ยึดถือกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 นั่นก็คือ
- คุณภาพวัตถุดิบอาหาร
- เทคนิคการปรุงอาหารอย่างมีชั้นเชิง
- ความเสมอต้นเสมอปลายของอาหาร
- ความคิดสร้างสรรค์
- รสชาติอาหารที่โดดเด่น
ระดับดาวมิชลิน บอกอะไรบ้าง?
สตาร์ หรือ ดาว ที่เราพูดถึงกันในตอนนี้ หมายถึงเลเวลจัดอันดับร้านอาหาร ซึ่งร้านอาหารหนึ่งร้าน อาจต้องใช้เวลาชิม 3-4 ครั้งใน 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกอย่างนั้นเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งรสชาติ การบริการและทุกๆอย่าง โอโห การจะได้ดาวมิชลินมาครอบครองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ ดาวมิชลิน จะมีทั้งหมด 3 เลเวลด้วยกัน ส่วนความหมายของดาว MICHELIN STAR จะมีตามนี้
- ร้านอาหาร 1 ดาว = ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม
- ร้านอาหาร 2 ดาว = ร้านอาหารยอดเยี่ยม ที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม
- ร้านอาหาร 3 ดาว = สุดยอดร้านอาหาร ที่ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง
MICHELIN Bib Gourmand รางวัลแด่ร้านอร่อยราคาไม่แพง
ในเมืองไทย เราจะเห็นร้าน Street Food หรือร้านข้างทางได้รับรางวัลนี้อยู่บ่อยๆ เป็นชื่อเล่นของตราสัญลักษณ์ยี่ห้อมิชลินนามว่า บิเบนดัม (BIBENDUM) ซึ่งมันคือรางวัลสำหรับ ร้านอาหารอร่อย ในราคาประหยัด!!! รางวัลนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1955 หลักเกณฑ์ของรางวัลนี้ จะเป็นร้านที่มีสถานที่ประกอบการเยี่ยม ให้บริการอาหารที่ดี ใช้วัตถุดิบมีคุณภาพ ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย และที่สำคัญ ราคาจะต้องไม่เกินมาตรฐานของท้องถิ่นด้วยนะ รางวัลนี้ถึงไม่ได้ติดดาว แต่ก็ถือเป็นร้านอาหารที่คุณภาพดีในราคามิตรภาพ
ถึงจะได้ดาวมิชลินแล้ว ก็โดนฮุบดาวได้เช่นกัน!
ในการรับรางวัลมิชลินสตาร์ ถึงแม้จะยากเย็นแสนเข็ญที่จะไขว่คว้าดาวมา แต่ก็ยากที่จะรั้งไว้อยู่ได้เช่นกัน รางมิชลินจะมีระยะเวลาจำกัดเพียง 1 ปี เท่านั้น เพราะถ้าหากร้านอาหารได้ทำค่ามาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งตกลงไป จนทำให้รักษามาตรฐาน หรือควบคุมคุณภาพไม่ได้ ก็จะถูกริบดาวคืนทันที ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ร้านอาหาร และเชฟต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาดาวเอาไว้
ซึ่งถ้าพูดถึงในแง่ของการตลาด และผู้บริโภค ร้านอาหารที่มีการการันตี โดยรางวัลมิชลินสตาร์ จะช่วยกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนผู้บริโภคก็สบายใจหายห่วง ที่ร้านยังรักษามาตรฐานไว้ได้ดีเหมือนเดิม แต่ถ้ามองในมุมมองของคนทำอาหารเอง ก็คงถูกกดดันอยู่ไม่น้อย
สรุป
หลายๆ คนคงจะไขข้อสงสัยกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกี่ยวกับเรื่องของ มิชลินไกด์ หรือมิชลินสตาร์ ในประเทศไทยบ้านเรานั้น ก็มีร้านอาหารอยู่ไม่น้อยที่ได้รับรางมิชลินเช่นเดียวกัน ซึ่งในตอนนี้มีอยู่ 133 แห่งทั่วประเทศไทย ที่คว้ารางวัลมิชลินสตาร์ และสัญลักษณ์ ‘บิบ กูร์มองด์’ ไว้ได้ รางวัลที่การันตีความอร่อยขนาดนี้ เห็นทีคงพลาดไม่ได้ที่จะต้องไปลิ้มลองซักครั้ง ใครอยากรู้ว่ามีร้านไหนน่าสนใจบ้าง แนะนำให้เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยน้า https://guide.michelin.com/